โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบแน่นอน เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดโรคได้ดังนี้
1. พันธุกรรม พบว่าในแฝดจากไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ 30-50 และร้อยละ 7-12 ของ ผู้ป่วย SLE เป็นญาติพี่น้องกัน เช่น แม่และลูกสาว หรือในหมู่พี่น้องผู้หญิงด้วยกัน
2. ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถค้นพบเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้
3. ฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเอสโตรเจน โรคที่พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บ่งชี้ว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังแปรเปลี่ยนตามการมีครรภ์ ประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิด
4. แสงแดดและสารเคมี ยาบางอย่างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม โรคแสดงอาการของโรคนี้ได้
โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) อาการและอาการแสดง
อาการทั่วไป พบอาการไข้ ร้อยละ 40-85 มักจะเป็นไข้ต่ำ ๆ และหาสาเหตุไม่ได้ นอกจากนี้จะมี
- อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในขณะโรคกำเริบ
- อาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปาก ในระยะเฉียบพลันที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ผื่นรูปปีกผีเสื้อ ลักษณะเป็นผื่นบวมแดงนูนบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ผื่นจะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกแสงแดด อาการทางผิวหนังอีกอย่างหนึ่งของโรคนี้คือ ปลายเท้าซีดเขียวเมื่อถูกน้ำหรืออากาศเย็น นอกจากนี้อาจพบผมร่วง และแผลในปากได้
- อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดข้อมากกว่าลักษณะข้ออักเสบ มักเป็นบริเวณข้อเล็ก ๆ ของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเท้า หรือข้อเข่า เป็นเหมือนๆ กันทั้ง 2 ข้าง ร้อยละ 17-45 พบอาการปวดกล้ามเนื้อ
- อาการทางไต ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการทางไตเป็นอาการนำ อาการแสดงที่สำคัญของไตอักเสบจากลูปัส ได้แก่ บวม ปัสสาวะเป็นฟองตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง
- อาการทางระบบเลือด อาการที่พบได้แก่ อ่อนเพลียหน้ามืดจากภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ ติดเชื้อได้ง่าย และเกร็ดเลือดต่ำ อาจพบจุดจ้ำเลือดออกตามตัวได้
- อาการทางระบบประสาท อาการที่พบได้ คือ อาการชักและอาการทางจิตนอกจากนี้อาจมีอาการปวดศรีษะรุนแรง หรือมีอ่อนแรงของแขนขา อาจพบได้ในระยะที่โรคกำเริบ
- อาการทางปอดและเยื่อหุ้มปอด อาการที่พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการแสดงคือเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าสุด ตรวจพบมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด บางรายมีอาการปอดอักเสบซึ่งต้องแยกจากปอดอักเสบติดเชื้อ
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการ เจ็บหน้าอก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เหนื่อยง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะหลอดเลือดแข็งจากการได้รับยาสเตียรอยด์นาน ๆ นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูง ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากไตอักเสบเรื้อรัง และจากการ ได้รับยาสเตียรอยด์
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร ไม่มีอาการที่จำเพาะสำหรับโรคลูปัส อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยารักษาโรคลูปัส เช่น NSAIDS ยาสเตียรอยด์ อาการยังคงอยู่ได้แม้จะหยุดยาไปเป็นสัปดาห์
โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) การตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
- การตรวจนับเม็ดเลือด
- การตรวจเลือดหาปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่าง ๆ เช่น การตรวจ coomb test , ANA, anti-dsDNA
- การตรวจปัสสาวะและ การตรวจปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ช่วยบอกชนิด และความรุนแรงของภาวะอักเสบที่ไตได้
- การตัดชิ้นเนื้อไตเพื่อตรวจ ทำให้จำแนกการกำเริบและความเรื้อรังของโรคได้ดีขึ้น แต่ต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญ
โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) การรักษาพยาบาล
เมื่อไหร่จึงจะให้การรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น หรืออาจเป็นโรคลูปัส ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเสมอไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการ แต่ควร ติดตามการดำเนินของโรคเป็นระยะๆ ประมาณปีละ 1-2 ครั้ง เมื่อมีความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะระบบใดระบบหนึ่ง จึงจะได้รับการรักษาที่จำเพาะ
โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) การรักษา
ยังไม่มีวิธีรักษาใดที่ทำให้หายขาดได้ แต่การปฏิบัติตัวที่ดี การเลือกใช้ยาที่ถูกต้องทั้งชนิด ขนาด และช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถควบคุมอาการของโรคนี้ได้การรักษาด้วยยายากลุ่มNSAIDS และยาต้านมาลาเรีย (คลอโรควีนและไฮดรอกซีคลอโรควีน) ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่มีปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก เช่นผู้ป่วยที่มีอาการอย่างโรคตามทางผิวหนัง มีผื่นที่หน้า ปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อ โดยที่ผลการตรวจทางปัสสาวะปกติ อย่างไรก็ตามในกรณียาเหล่านี้ควบคุมอาการไม่ได้ อาจให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดต่ำๆ (prednisolone<10มก. /วัน) ร่วมด้วย เมื่อควบคุมโรคได้จึงค่อยลดยาลง
ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone เป็นยาหลักที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของอวัยวะสำคัญต่างๆจากโรคลูปัส แพทย์จะปรับขนาดของยาตามอาการและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องให้ยากดระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ร่วมด้วย
โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) อาการข้างเคียงของยาที่ใช้
1. NSAIDS ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร บางรายเกิดแผลในทางเดินอาหาร ทำให้ถ่ายเป็นเลือดได้ ยาสเตียรอยด์ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น จากการคั่งของเกลือและน้ำ และจากการรับประทานอาหารได้มากขึ้น
2. prednisolone ถ้าได้รับยาในขนาดสูง ๆ ต้องระวังปัญหาจากการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และถ้าได้รับยาเป็นเวลานาน ๆ อาจเกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหักง่าย ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ความรู้สึกทางเพศลดลง มีสิวขึ้น ปวดข้อที่เกิดจากหัวกระดูกขาดเลือด และเกิดลักษณะของกลุ่มอาการคุชชิ่ง ได้แก่ หน้ากลม ไหล่และคออูม ลำตัวอ้วน
3. ยาต้านมาลาเรีย ( คลอโรควีนและไฮดรอกซีคลอโรควีน) อาจมีอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน กลัวแสงหรือตาบอดสีหรือทำให้เลือดออกในจอตา ผู้ป่วยที่ใช้ยาเหล่านี้ต้องตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ทุก 6 เดือน นอกจากนี้อาจพบอาการเบื่ออาหาร ท้องเสียหรืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
4. ยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น Cyclophosphomide, azathioprine) อาจกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำและซีดได้ นอกจากนี้ทำให้มีคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กดการทำงานของรังไข่ทำให้มีประจำเดือนผิดปกติ และมีบุตรยากได้ การใช้ยาเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน (ติดต่อกันเกิน 2 ปี) จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไป
โรคลูปัส โรคพุ่มพวง (SLE) การปฏิบัติตัวในการควบคุมโรค
1. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ช่องปาก
2. หลีกเลี่ยงแสงแดดและแสงไฟนีออนเนื่องจากทำให้โรคกำเริบได้ ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกเช้าโดยซื้อครีมกันแดดที่ป้องกันทั้ง UVA และ UVB ที่มี SPF 15 ขึ้นไป และพยายามหลีกเลี่ยงการออกแดดโดยตรงในกรณีที่จำเป็นต้องใส่เสื้อแขนยาว และสวมหมวกรวมทั้งใช้ครีมกันแดดที่แรงขึ้น
3. รับประทานอาหารปรุงสุกผ่านความร้อนใหม่ ๆ งดอาหารหมักดอง หลีกเลี่ยงการรับประทาน ขนมจีน ผักสด และส้มตำตามร้านค้าทั่วไปในผู้ป่วยที่มีอาการทางไตร่วมด้วย ควรรับประทานอาหารจำกัดเกลือ
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และบริหารข้อเพื่อป้องกันการเกิดข้อพิการ (ยกเว้นขณะมีข้ออักเสบ )
5. หลีกเลี่ยงภาวะเครียดเนื่องจากอาจทำให้โรคกำเริบได้
6. เมื่อเจ็บป่วยไม่ซื้อยามากินเอง ควรไปพบแพทย์ที่รักษา
7. ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือสถานรักษาด้วยตนเอง เพราะจะทำให้แผนการรักษาขาดความต่อเนื่อง
8. ไม่ควรปล่อยให้ตั้งครรภ์ในระยะที่โรคกำเริบหรือใช้ยาขนาดสูง
9. ควรมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแสดงว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ ข้ออักเสบมากขึ้น มีจ้ำเลือดตามตัว บวมขึ้น เหนื่อยขึ้น เจ็บแน่นหน้าอก
อ้างอิง
- สมจิต หนุเจริญกุล. (2536). การพยาบาลทางอายุรศาสตร์ เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 3.บริษัทวีเอสพริ้นติ้งจำกัด : กรุงเทพ ฯ.
- สุชีลา จันทร์วิทยานุชิต. (2538). ตำราโรคข้อ. พิมพ์ครั้งที่ 1.โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ :กรุงเทพฯ.
ตรวจทานโดยอาจารย์บุญจริง ศิริไพฑูรย์ วันที่ 19 สิงหาคม 2546
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=3e72af93ed8765d5&pli=1
http://www.thiswomen.com/Health/id4048.aspx